ไขปมพัฒนาการเชื้อ”ไข้หวัดหมู” สู่ระดับที่5ติดเชื้อ”คนสู่คน”
ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัย โลกไวรัสสัตว์สู่คน โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ รายงานถึงปรากฏการณ์ของการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู (swine influenza) นั้น เป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของสงครามระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรค และเป็นการยืนยันความจริงที่ว่าโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำที่สำคัญและมีโอกาส คร่าชีวิตมนุษย์ติดต่อได้กว้างขวาง เป็นโรคที่มาจาก สัตว์สู่คน เกือบทั้งหมด ทั้งนี้ จะผ่านตัวกลาง เช่น ยุง ริ้น เห็บ หรือไม่ก็ตาม
การพัฒนาการของเชื้อโรคที่จะเข้าสู่คนนั้นแบ่งได้เป็น 5 ระดับด้วยกัน
ระดับที่ 1 คือ เชื้อโรคอยู่ในสัตว์และไม่เคยติดต่อมายังคน เช่น เชื้อมาลาเรียในลิง (Relchenowl malaria) ระดับที่ 2 มีการติดต่อจากสัตว์มาคน แต่หยุดเพียงคนคนนั้น โดยไม่มีการแพร่จากคนสู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัข ระดับที่ 3 เริ่มมีการข้ามสายพันธุ์ โดยไวรัสจากสัตว์ชนิดหนึ่งถ่ายทอดไปยังสัตว์อีกชนิดและแพร่มายังคน เช่น โรคอีโบล่า (Ebola) ที่มีแหล่งรังโรคในค้างคาวแพร่มายังลิง และส่งต่อมายังคน โดยมีการติดต่อคนสู่คนด้วย แต่อยู่ในวงจำกัด
ระดับที่ 4 เชื้อจะสิงสู่ในสัตว์ได้หลายชนิด ขึ้นกับสภาวะภูมิอากาศ ความแห้งแล้ง หรืออุดมสมบูรณ์ เช่น ไวรัสในตระกูลไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบโดยอาจแฝงในลิงหรือสัตว์ขุดรูต่างๆ และมียุงเป็นพาหะกัดคน และเมื่อคนมีจำนวนไวรัสหรือเชื้อโรคมากๆ ขึ้นก็จะถูกยุงมากัด และนำเชื้อไปให้คนอื่นๆ อีก ซึ่งเห็นได้ชัดในโรคไข้เลือดออก ระดับที่ 5 มีการวิวัฒนาการในสัตว์จนสุกงอม และติดต่อมายังคน และติดเชื้อในคนได้อย่างสมบูรณ์ จะกระทั่งมีการติดต่อระหว่างคนสู่คนได้สำเร็จไม่ต้องอาศัยสัตว์อีกต่อไป เช่น กรณีของโรคเอดส์จากเชื้อ HIV ที่มีต้นกำเนิดมาจากลิง
ไข้หวัดหมูก็มีการพัฒนาการสุดยอด และอาจจะอยู่ในระดับที่ 5 ต่อ จากนี้จะมีการแพร่ระหว่างคนสู่คนเอง แต่จะมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นกับการปรับตัวของไข้หวัดหมูในมนุษย์ ไข้หวัดหมูมีจุดกำเนิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1918-1919 ในช่วงที่มีการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของไข้หวัดใหญ่ในคน (Spanish Flu) ซึ่งคร่าชีวิตไป 20-40 ล้านคนทั่วโลก และผู้เสียชีวิตส่วนมากจะอยู่ใน 2 ช่วงคือ ระหว่างอายุ 20-40 และตั้งแต่ 65 ขึ้นไป ซึ่งต่างจากไข้หวัดใหญ่ทั่วไป (Seasonal Flu) ที่เล่นงานเด็กเล็กและคนแก่เป็นส่วนมาก แต่คล้ายคลึงกับไข้หวัดหมูที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้
ในช่วงนั้นมีการพบไข้หวัดในหมูเช่นกัน (J.S. Koen) และจวบจน ค.ศ.1930 จึงได้มีการแยกเชื้อได้ (Shope และ Davis) ไข้หวัดหมูยังเป็นหมูแท้ๆ อยู่อีก 80 ปี โดยไม่มีลูกผสมเป็น 3 เกลอ (พันธุกรรมหมู นก คน) ดังเช่นปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นก็ก่อให้เกิดโรคในคนอยู่เนืองๆ มากกว่า 50 ราย เช่น ในสหรัฐ 19 ราย เชโกสโลวาเกีย 6 ราย เนเธอร์แลนด์ 4 รัสเซีย 3 และประเทศแคนาดาและฮ่องกงอีกแห่งละ 1 ราย ทั้งนี้ โดยที่ผู้ป่วย 61 % มีประวัติสัมผัสกับหมูและอยู่ในช่วงอายุเฉลี่ยประมาณ 24 ปี
หลังจากนั้นใน ค.ศ.1974 ไข้หวัดหมู (ล้วน) มีการพัฒนาโดยเกิดโรคในค่ายทหาร (Fort Dix) ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersy) มีผู้ป่วย 13 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยที่อีก 230 ราย ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการแต่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีประวัติสัมผัสหมู ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการพัฒนาจนมีการติดต่อระหว่างคนสู่คน ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกอาจประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 4 ใน 6 ดังเช่นไข้หวัดหมู (ณ วันที่ 28 เมษายน 2552)
จากเหตุการณ์การติดต่อในค่ายทหารทำให้มีการใช้วัคซีนไข้หวัดหมูฉีดให้ ประชาชนทั่วไป แต่พบว่าช่วงที่มีการฉีดวัคซีนมีผู้ป่วยเส้นประสาทอักเสบแขน ขาอัมพาต ทำให้ล้มเลิกการใช้วัคซีนไป และข้อมูลสรุปของการเกิดอัมพาตอาจยังคลุมเครือจนปัจจุบัน ในปี ค.ศ.1988 มีผู้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต โดยมีประวัติสัมผัสหมูในรัฐวิสคอนซิน (Wisconsin) และเริ่มสงสัยว่าไข้หวัดหมูอาจไม่ใช่พันธุ์หมูล้วน (classic H1N1)
จวบจน ค.ศ.1998 จึงได้มีการพิสูจน์พบว่า หมูเลี้ยงในสหรัฐมีไวรัสไข้หวัดหมูกลายพันธุ์ โดยมีพันธุกรรมผสมระหว่าง หมู คน และนก เกิดสายพันธุ์ผสม (Triple assortant virus) H3N2 , H1N2 , และ H1N1 (วารสารโรคติดเชื้อ JID 2008) และสายพันธุ์ผสมนี้ยังพบได้ในเอเชีย และประเทศแคนาดา
การเกิดเชื้อในคนจากไข้หวัดหมูผสมสายพันธุ์ใหม่ พบได้ในประเทศสเปน (H1N1) เดือน พฤศจิกายน 2008 เป็นผู้หญิงอายุ 50 ปี มีการไข้ ไอ เหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คันคอ และคันตา และหนาวสั่น ผู้ป่วยหายเองโดยไม่ต้องการการรักษาใดๆ โดยที่ผู้ป่วยทำงานในฟาร์มหมูและสัมผัสใกล้ชิดหมู ไม่มีคนใกล้ชิดในละแวกมีการติดเชื้อ ข้อสรุป ณ ขณะนั้น ยังไม่คิดว่าไข้หวัดหมูแม้เป็นสายพันธุ์ผสมแล้วจะมีอันตรายมากนัก (Eurosurveillance ฉบับ 19 กุมภาพันธ์ 2009)
เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดมาก่อนในสหรัฐที่รัฐวิสคอนซิน ในวันที่ 7 ธันวาคม 2005 เด็กชายอายุ 17 ปี มีอาการของไข้หวัดใหญ่แต่อาการหายเองใน 3-4 วัน มีการติดเชื้อไข้หวัดหมูลูกผสม H1N1 โดยผู้ป่วยไม่ได้มีการสัมผัสกับหมูหรือไก่ที่บริเวณบ้าน และในระหว่างช่วงเดียวกันมีรายงานการติดเชื้อลูกผสมในแคนาดาในระหว่าง ค.ศ.2005 และ 2007
จาก เหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าไวรัสไข้หวัดหมูมีการพัฒนาตัวเองมาตลอด โดยที่สามารถติดต่อมายังคน และเกิดโรคจากคนสู่คน แม้จะไม่ได้เป็นสายพันธุ์ลูกผสมก็ตาม และแม้แต่เป็นสายพันธุ์ลูกผสมแล้วก็ไม่ได้เกิดอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ เพียงช่วงห่างจากกลางเดือนกุมภาพันธ์ในยุโรป ที่สรุปสถานการณ์ว่า ไม่รุนแรง ก็เกิดการระบาดขนานใหญ่ในเม็กซิโก และลามไปหลายประเทศในโลก ในเดือนมีนาคม
แหล่งที่มา : http://www.xn--22c0bzbwatc4b2dxe5b.com/
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น