วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แสงแดด” ตัวร้าย! อันตรายต่อผิว



แสงแดด มีทั้งคุณและโทษ ... ที่จริงแล้วแสงแดดมีประโยชน์ต่อมีสิ่งที่มีชีวิตบนโลกมากมาย ทั้งให้ความอบอุ่น ช่วยในการมองเห็น และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ Vitamin D ของร่างกายมนุษย์

อย่างไรก็ตามหากคนเราได้รับปริมาณแสงแดดที่มากเกินไปจะเกิดโทษได้ และอวัยวะที่ได้รับอันตรายจากแสงแดดโดยตรงก็คือ “ผิวหนัง” ของเรานั่นเอง ซึ่งมีทั้งเรื่องแสบไหม้ กระ ฝ้า แก่ก่อนวัย และ มะเร็งผิวหนัง เนื่องจากอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นของ มะเร็งผิวหนัง ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์ป้องกันผิวหนังจากแสงแดด โดยเน้นการป้องกันผิวหนังจากรังสี Ultraviolet ซึ่งทำได้หลายวิธี ลองอ่านต่อสิคะ

การทายากันแดด (Sunscreen)

เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะสะดวกและคล่องตัว อย่างไรก็ดีคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ ไม่ถูกต้องในการเลือกใช้ยากันแดด โดยเข้าใจว่ายากันแดดที่ดีคือ ยากันแดดที่มี SPF (Sun Protection Factor) สูง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

การเลือกยากันแดดไม่จำเป็นต้องเลือกชนิดที่มี SPF สูง โดยค่า SPF นั้น จะบอกประสิทธิภาพของ ยากันแดดในการป้องกันการเกิดผิวหนังแดงแสบซึ่งเป็นผลจากรังสี UVB เป็นหลัก ยากันแดดที่มีค่า SPF สูง จะป้องกันรังสี UVB ได้ดี แต่อาจป้องกันรังสี UVA ได้ไม่ดี รวมถึงอาจมีการใส่สารกันแดดลงไปหลายตัวจนทำให้คุณเกิดอาการแพ้ได้

วิธีเลือกยากันแดดที่เหมาะสม

ควรพิจารณาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราว่าในแต่ละวันต้องออกแดดมากน้อยเพียงใด เช่น หากไม่ค่อยออกแดดหรือทำงานในอาคาร การใช้ยากันแดด SPF 15 ก็เพียงพอ หากต้องทำงานตากแดด หรือเล่น กีฬากลางแจ้ง ควรใช้ยากันแดดค่า SPF 30

ข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่าทั้ง UVA และUVB มีส่วนสำคัญทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง โดยทำให้เกิดภาวะผิวหนังแก่ก่อนวัย รวมถึงก่อมะเร็งผิวหนังด้วย ดังนั้นเวลาเลือกซื้อยากันแดดควรเลือก ชนิดที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVB และ UVA ซึ่งยากันแดดที่มีสารป้องกัน UVA จะสังเกตได้จากการมีค่า PA (Protection grade of UVA) ระบุไว้ที่ยากันแดด กรณีที่ไม่มีค่า PA ระบุ ควรเลือกชนิดของยากันแดดที่มีสารกันแดดที่สามารถป้องกัน UVA ร่วมด้วย

เคล็ดลับง่ายๆในการทายากันแดด

1.ต้องทาหนาพอสมควรจนเห็นผิวหนังขาวนวล เช่น บริเวณใบหน้า ควรทายากันแดดปริมาณ 1 กรัมต่อการทา 1 ครั้ง หากต้องการทายากันแดดทั่วทั้งตัวต้องทาอย่างน้อย 30 กรัมต่อ 1 ครั้ง จึงจะเพียงพอ เราควรเลือกยากันแดดชนิดที่กันน้ำ (water resistant) และควรทาซ้ำภายหลังว่ายน้ำหรือเล่นกีฬา เนื่องจากน้ำและเหงื่อหรือการเช็ดถูอาจจะทำให้ยากันแดดหลุดออกไปได้

2. สวมเสื้อผ้าและหมวก (Physical photoprotection)
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ชนิดและคุณสมบัติของเสื้อผ้า สามารถบอกประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดได้ โดยผ้าที่ถักทอเนื้อแน่น อาทิ ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าขนสัตว์ จะป้องกันแสงแดดได้มากกว่า ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน นอกจากนี้ผ้าสีเข้ม จะป้องกันแสงแดดได้ดีกว่าผ้าสีอ่อน ส่วนการ สวมหมวก ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันแสงแดด โดยเราควรเลือกหมวกปีกกว้าง ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงแดดได้ดีกว่าหมวกปีกแคบ และควรเลือกหมวกสีเข้มและเนื้อผ้าหนา จะช่วยป้องกันแสงแดดได้ดี

3. ติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์ หากข้อมูลพบว่ารังสี UVB ไม่สามารถผ่านกระจกรถยนต์ได้ แต่รังสี UVA สามารถผ่านกระจกได้ ชนิดของกระจกมีผลในการป้องกันแสงแดด โดยกระจกหน้ารถยนต์ (windshield) เป็น laminated glass มีคุณสมบัติในการกันรังสี UVAได้ดีมาก ในขณะที่กระจกด้านข้างและกระจกด้านหลังรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระจกนิรภัยชนิด tempered glass จะป้องกัน UVA ได้เพียง 50 % เท่านั้น ดังนั้นหากต้องการเลี่ยงการได้รับรังสี Ultraviolet ขณะอยู่ในรถยนต์ ควรติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์เพิ่มบริเวณกระจกด้านข้างและกระจกด้านหลัง

รับประทานวิตามินกันอันตรายจากแสงแดดจริงหรือไม่

ปัจจุบันมีการนำ Vitamin และอาหารเสริมหลายชนิดมาใช้โดยหวังผลในการต้านสารอนุมูลอิสระที่เกิดจากแสงแดด แต่จะได้ผลแค่ไหนก็ยังต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป ทางที่ดีที่สุด พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำ ข้างต้น เพียงเท่านี้ก็จะห่างไกลอันตรายกับเจ้าแสงแดดแล้วค่ะ

แหล่งที่มา : http://women.thaiza.com/detail_28791.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น