วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ระวัง!!!มันมากับอากาศร้อน...



ร้อน ร้อน ร้อน....หลายคนคงสัมผัสได้ถึงไอร้อนที่มาปะทะผิวกาย ที่ทำให้ผิวหนังรู้สึกแสบร้อนไปหมดกับสภาพความแปรปรวนของอากาศ ทั้งฝนตก แดดออก พายุเข้า ไฟป่า และภาวะภัยแล้งที่คืบคลานเข้ามาทีละนิด จนทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จนเกิดอาการเจ็บป่วยในที่สุด…

วันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงนำเรื่องราวโรคหน้าร้อนที่ควรระวังมาบอกกัน เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนจัด ที่หลายคนอยากหลีกเลี่ยง กลับเป็นอากาศที่สุดแสนเย็นสบายเหมาะแก่การกระจายพันธุ์ของเหล่าเชื้อโรคตัวร้าย โดยโรคติดต่อที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มโรคติดต่อทางอาหาร น้ำ และกลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ที่ต้องระวังในช่วงฤดูร้อนมี 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์ โดยเฉพาะเจ้าโรค “อุจจาระร่วง” ที่นางมนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อต้นปี 52 ว่า จากการจัดเก็บสถิติอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน ในโรคติดต่อที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของฝ่ายระบาดวิทยา กองควบคุมโรค สนอ.ตลอดปี 2551 พบว่า คนกรุงเทพฯ ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากที่สุด จำนวนกว่า 700 คนต่อแสนประชากร!!!...



น่าตกใจ!!...เมื่อกระทรวงสาธารณะสุข โดย นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เนื่องจาก กรมควบคุมโรคได้ทำเฝ้าระวังโรคกลุ่มนี้ ตั้งแต่ ม.ค. - ก.พ. 2552 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้ถึง 1.9 แสนราย



อย่างไรก็ตาม โรคอุจจาระร่วง เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้แม้แต่กับศัตรูร้ายอย่างเจ้าเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นเหล่านี้…



โรคอุจจาระร่วง หรือ ท้องเสีย มีอาการโดยทั่วไปคือ มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน การถ่ายอุจจาระตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อ 1 วัน โดยอุจจาระจะมีลักษณะเหลว ไม่เป็นก้อน ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นมูกเลือด สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิ ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้ ติดต่อจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ หรือมีเชื้อโรคที่มือ แล้วใช้มือนั้นหยิบอาหารเข้าปาก หรือหยิบให้ผู้อื่นกิน จนทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้



เชื้อโรค ป้องกันได้ แค่ใส่ใจความสะอาด!!!...คุณสามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงได้ง่าย ๆ โดยการล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงและกินอาหาร ดื่มน้ำสะอาด ปรุงอาหารให้สุก ทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรเก็บอาหารข้ามมื้อ หรือ ข้ามวัน ถ้าจำเป็นต้องนำมาอุ่นก่อนทานทุกครั้ง ที่สำคัญควรขับถ่ายในห้องน้ำที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ รวมถึงกำจัดแห่งสะสมเชื้อโรค โดยเฉพาะถังขยะในบ้าน เศษอาหารที่เหลือติดจาน ควรทำความสะอาดให้ดี เพราะอาจนำมาซึ่งพาหะนำโรคอย่างแมลงวัน เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรค



โอย!!ท้องเสียแล้วทำไงดี...เมื่อเกิดอาการอุจจาระร่วงแล้ว ไม่ควรซื้อยาประเภทให้หยุดถ่ายมากิน เพราะจะทำให้ร่างกายไม่สามารถถ่ายเชื้อออกไปหมดได้ วิธีที่ถูกต้อง คือ กินน้ำเกลือแร่ โดยผสมตามข้างซอง หรือผสมเองก็ได้โดยใช้น้ำต้มสุกสัก 1 ขวด น้ำตาลสัก 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือ สัก 1 ช้อนชา ผสมแล้ว ดื่มบ่อยๆ ให้พอเพียงกับที่ถ่ายออกไป เพื่อลดการสูญเสียน้ำในร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากเกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมากอาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้



ไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากอากาศที่แสนอบอ้าว สัตว์ต่าง ๆ อาทิ สุนัข แมว ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น บ้านที่เลี้ยงสุนัขหรือแมวไว้ในบ้าน ควรดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงเป้นพิเศษ และนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ต้องพึงระวัง



โรคพิษสุนัขบ้า..หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคซึ่งอาจเกิดจากการกัด หรือ ข่วน จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู เป็นต้น โดยเจ้าเชื้อร้ายตัวนี้ มีชื่อว่า “เรบีส์ ไวรัส” ไวรัสชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในระบบประสาท จึงทำให้มนุษย์ที่ถูกกัดและติดเชื้อโรคนี้ มักเกิดการอักเสบของสมองและเยื่อสมอง ในระยะ 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้วก็ตาม ต่อมาจะหงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นเต้นไวต่อสิ่งเร้ารอบกาย ไม่ชอบแสง ลม มีน้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอกระตุก เกร็งขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ "กลัวน้ำ" จากนั้นจะเริ่มมีอาการ เพ้อ คลั่ง สลับกับอาการสงบ ชัก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอัมพาต โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด



แต่ถ้าหากโดนกัดเข้าให้แล้วล่ะก็ อย่ารอช้า...ควรรีบแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบ เพื่อประสานกับปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อควบคุมโรค และเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ โดยการกักขังสัตว์ไว้ในที่ปลอดภัย และเฝ้าดูอาการประมาณ 15 วัน ไม่ควรทำลายสัตว์โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้สัตว์ตายเอง ซึ่งจะตรวจพบเชื้อได้ง่าย และแน่นอน ในการส่งซาก หลังจากที่สัตว์ตายลง ถ้าเป็นสัตว์เล็กเช่นสุนัข แมว การส่งตัวอย่างอาจส่งเฉพาะหัว หรือส่งทั้งซากก็ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์ว่า สัตว์ชนิดนั้น เป็นโรคพิษสุขบ้าหรือไม่



เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้านี้เอง นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เล่าให้ฟังว่า โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดปี แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงในช่วงหน้าร้อน โดยใน ปี 2551 พบผู้ป่วยทั้งหมด 4 ราย เสียชีวิตทุกราย ปี 2552 ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย และผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วใส่ยารักษาแผลสด เช่น โพรวิโดนไอโอดีน และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน



ความน่ากลัวของโรคนี้ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้...เพราะว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการดูแล ประคับประคอง และรักษาตามอาการ เท่าที่จะทำได้เท่านั้น ดังนั้น การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกสุนัข หรือ แมวกัด เป้นการดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เพราะลักษณะอากาศที่ร้อนแรงเช่นนี้ มักแฝงมากับมฤตยูเงียบมากมาย โดยเฉพาะเชื้อโรคร้ายสารพัดชนิด ที่เติบโตได้ดีในภาวะแห้งแล้ง จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษอีกด้วย



เพราะสุขภาพที่ดี จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้เราสามารถสู้กับไวรัส จากโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับลมร้อนได้ เพียงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทำจิตใจให้สดใสอยู่เสมอ..

แหล่งที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/8733

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น