วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ขนมเด็ก



เด็กอ้วนกลายเป็นปัญหาไม่ธรรมดาของสังคมไทย เพราะทำให้แต่ละปีประเทศต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาโรค ทั้งที่สามารถป้องกันได้
จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2549 พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก 22 ล้านคน มีน้ำหนักเกิน และในประเทศไทยก็พบแนวโน้มเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะการบริโภคไม่ถูกสุขลักษณะโดยเฉพาะขนมถุง ขนมซอง ขนมกรุบกรอบทั้งหลาย ที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา
เนื่องจากในขนมกรุบกรอบมีทั้งแป้ง น้ำตาล โซเดียม ซึ่งหากบริโภคมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเส้นเลือดอุดตัน กระดูกผุ ฟันผุ เป็นต้น
จากการสำรวจการบริโภคขนมของเด็กและเยาวชนในปี 2549 พบว่ามีการใช้เงินซื้อขนมกรุบกรอบเฉลี่ย 26 บาท ต่อคน/ต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับต่อวัน หรือคนละ 9,800 บาทต่อปี เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาซึ่งใช้อยู่ที่เพียงคนละ 3,024 บาทต่อปีเท่านั้น
น.พ.สุริยะเดว ทริปาตี กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และโฆษกเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน อธิบายว่า ขนมที่มีในปัจจุบันสามารถจำแนกเป็น 5 ประเภท
1.ขนมปังกรอบ ที่ไม่มีการเคลือบน้ำตาล หรือสอดไส้ จำพวกแคล็กเกอร์
2.ขนมปังเคลือบน้ำตาล สอดไส้ต่างๆ อาทิ เวเฟอร์
3.ขนมเหนียวหนึบ ซึ่งจะมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก อาทิ ลูกอม ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต
4.ประเภทให้โปรตีน หรือเสมือนว่าให้โปรตีน อาทิ ปลาหมึกเส้น มันฝรั่งทอด สาหร่าย
5.ขนมไทยๆ มีด้วยกันหลายประเภท มีทั้งให้ประโยชน์และทำให้บริโภคสารอาหารมากเกิน
คุณหมออธิบายต่อว่า ขนมไม่ใช่ยาพิษ หากรู้จักเลือกรับประทานและรู้จักวิธีรับประทานไม่ให้ร่างกายได้รับสารอาหารจากขนมเหล่านั้นมากเกิน ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง โดยสามารถเรียงลำดับประเภทที่กินไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพดังนี้
ขนมที่อยู่ในโซนสีแดงหรืออันตรายมากที่สุดในกลุ่ม คือ
ขนมประเภทเหนียวหนึบ มักทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากจนเกินไป
ขนมปังเคลือบชนิดต่างๆ มีทั้งให้น้ำตาล และโซเดียมเกินปริมาณ
และขนมที่คล้ายจะให้โปรตีน ทั้งปลาหมึกเส้น มันฝรั่งทอด มักปรุงแต่งรสมาก ทำให้ร่างกายได้รับไขมันทรานแฟต จากน้ำมันทอดซ้ำในอุตสาหกรรม และโซเดียมในเครื่องปรุงรส
ประกอบกับการดื่มน้ำอัดลมติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นระยะยาว เช่น ฟันผุ โรคกระเพาะ โรคอ้วน ไปจนถึงโรคเรื้อรังรุนแรงหากรับประทานตั้งแต่ยังเด็กในปริมาณมากเกินกว่าปกติจะน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะจะเกิดอัตราเสี่ยงเทียบเท่าในผู้ใหญ่ ทั้งโรคไต โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และอาจเกิดภาวะกระดูกพรุนได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่
ข้อควรระวังคือ การเลือกรับประทานอย่างถูกต้องง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงขนมที่มีการปรุงรสมากๆ ทั้งหวาน เค็ม มัน
ทานขนมให้เป็นแค่อาหารว่าง ไม่ใช่อาหารหลัก เช่น กินซองเล็ก และไม่เกินวันละ 1 ห่อ เพราะในแต่ละวันร่างกายเราได้รับสารอาหารที่พอเพียงจากอาหารมื้อหลักอยู่แล้ว แค่นี้ก็ห่างไกลโรคได้

แหล่งที่มา : http://women.kapook.com/baby00296/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น